“ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ที่พึ่งแรกของประชาชน” แนวทางการยุติข้อพิพาท ระหว่างคู่กรณี โดยศาลยุติธรรม

   เมื่อ : 18 ม.ค. 2567

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลยุติธรรม โดยประธานศาลฎีกามีนโยบาย  ให้มีระบบการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องเป็นแนวทางการยุติข้อพิพาทอีกทางเลือกหนึ่ง  เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว  คู่กรณีพึงพอใจและบังคับได้จริง  โดยศาลพิพากษาตามยอมให้มีผลทางกฎหมาย     ได้จัดทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์ขั้นตอน “การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง” เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการบริการ เป็นอีกช่องทางที่สะดวกรวดเร็วประหยัด ไม่เสียค่าขึ้นศาล และสามารถนำผลการไกล่เกลี่ยมาบังคับใช้ตามกฎหมายและที่สำคัญสามารถนำไปใช้บังคดีคดีได้ โดยจะมีคนกลางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาไกล่เกลี่ยแก่คู่กรณีเพื่อยุติข้อพิพาททำให้ไม่ต้องมีการฟ้องคดีต่อศาล
 

นอกจากนี้การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง มีข้อดีสำหรับคู่กรณีคือ ใช้ได้กับข้อพิพาททางแพ่งทุกประเภทไม่จำกัดทุนทรัพย์ รวมถึงข้อพิพาททางอาญาที่ยอมความได้ เช่น คดียักยอก คดีฉ้อโกง คดีบุกรุก คดีหมิ่นประมาท และ คดีทำให้เสียทรัพย์ มีความสะดวกเนื่องจากยื่นคำร้องได้หลายช่องทาง เลือกวันนัดไกล่เกลี่ยได้ด้วยตนเอง เลือกไกล่เกลี่ยผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกต่างหาก เป็นบริการแบบ One Stop Service เบ็ดเสร็จที่ศาลยุติธรรมที่เดียว


ข้อดีที่ไม่ได้มีแค่ความสะดวกรวดเร็ว คือ กระบวนการขั้นตอนไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการน้อยกว่าการฟ้องคดีต่อศาล ใช้เวลาไม่นานก็ยุติข้อพิพาทได้ แถมประหยัดเพราะไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าธรรมเนียมศาล ที่สำคัญเป็นธรรมเพราะมีคนกลางที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของศาล และมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย


เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ทำสัญญาประนีประนอมกันแล้ว ก็สามารถขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้และหากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ปฏิบัติตาม ก็สามารถยื่นบังคับคดีได้ทันที ที่สำคัญการเลือกวิธีระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ช่วยรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างคู่กรณีได้ด้วย ตามนโยบาย นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา ที่มอบไว้ว่า “ที่พึ่ง เที่ยงธรรม เท่าเทียม ทันโลก”